The Railway Man หนังที่เราคนไทย และมีหลายซีนที่มาถ่ายทำในสถานที่จริง ในเมืองไทยอีกด้วย สะพานข้ามแม่น้ำแควถึงแม้ในวันนี้ จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่มีประวัติและความเป็นมากว่าจะมาเป็นสะพานข้ามแม่น้ำ และเส้นทางรถไฟสายมรณะนี้ แลกมาด้วยแรงกาย และหยาดเหงื่อแรงงานจากทาสที่โดนจับมาเป็นตัวประกัน ทั้งคนไทย และทหารอังกฤษ
รวมถึงหากเราได้ดูหนังเรื่องนี้จนจบเรื่อง เราจะได้เห็นว่าการแลกมากว่าจะได้สถานที่แห่งนี้ อาจไม่ได้หมายถึงแรงกาย และความเหนื่อยที่เสียไปเท่านั้น แต่เป็นสภาพจิตใจของทาสที่สร้างสะพานแห่งนี้อีกด้วย คงเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน ที่จะโดนทารุณทางร่างกาย และจิตใจ โดยเฉพาะตัวละครอย่าง อีริค ที่เป็นทหารอังกฤษฝ่ายสื่อสาร ที่คอยจับสัญญาณวิทยุ ที่ไม่ได้มีหน้าที่ในการออกรบ หรือการสู้รบกับฝ่ายญี่ปุ่นเลย
The Railway Man อดีตที่เลวร้าย กับความทรงจำที่ไม่มีวันหาย
หนังเหมือนต้องการป้อนขนมหวาน ที่น่ากินให้กับคนดูได้อิน และมีความสุขไปกับการเจอความรักครั้งแรกของอีริคก่อน หลังจากที่ตัวเขาได้ผ่านเรื่องเลวร้ายมาอย่างหนักหนาในชีวิต กับการเป็นทหารอังกฤษที่ถือว่า เป็นผู้เสียสละให้กับประเทศ แต่กลับกัน The Railway Man จะบอกว่าทหารเหล่านี้กลับมีสภาพจิตใจ ที่สวนทางกับสิ่งดีๆ ที่พวกเขาทำกับประเทศเกิดของตัวเอง
การที่อีริคได้เจอกับ แพทริกเซียในการขึ้นรถไฟ เพื่อเก็บเกี่ยวความสุขให้กับชีวิตตัวเอง เท่าที่จะทำได้แบบง่ายๆ แต่เป็นเส้นทางที่ได้เจอกับผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ตัวเขาเลือกที่จะหาที่นั่งใกล้กับเธอ แต่ไม่ใช่เพราะความสวยที่แพทริกเซียมี แต่เป็นเพราะโชคชะตาที่ตัวเขาไม่ได้มองเลยว่า ใครที่นั่งอยู่ที่ตรงนั้น แต่กลับกลายเป็นฝ่ายหญิง ที่มีความรู้สึกชอบตัวอีริคก่อน ก่อนที่จะสานความสัมพันธ์กัน แต่หลังจากนั้น แพตตี้กลับได้รู้อะไรมากกว่านั้น สำหรับความบอบช้ำทางจิตใจของอีริค กับภาพเหตุการณ์ในอดีต สำหรับช่วงที่เป็นทหารออกรบ และการโดนจับเป็นเชลยศึก เพื่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควในปัจจุบันนี้
จุดสำคัญ หรือฉากที่หนังเก็บไว้เพื่อบอกในตอนท้ายของเรื่อง คือห้องทรมานที่ตัวอีริค โดนนากาเซจับตัว เพื่อไปทรมานและเค้นเอาความลับ ในการแอบทำวิทยุเพื่อฟังข่าวนอกที่คุมขัง และจุดมืดที่ทำลายสภาพจิตใจของอีริค ก็มาจากฉากสำคัญตรงนี้ ที่สร้างปมและความเจ็บปวดทางความรู้สึก มาถึงทุกวันนี้ที่ตัวเขาอายุผ่านเข้า 60 แต่ทุกอย่างยังชัดเจน มีแต่การคลายความเจ็บปวดทุกอย่างได้ ก็คือ การให้อภัยเท่านั้น
สิ่งที่ทำยากที่สุด แต่เมื่อทำได้ก็เหมือนให้อิสระกับตัวเอง

เพื่อนอีริคอย่าง ฟินเลย์ที่ร่วมรบด้วยกันตอนที่เป็นทหารอังกฤษ มาถึงช่วงที่โดนทหารญี่ปุ่นจับเป็นเชลยศึกด้วย พยายามที่จะเร้าอีริค และต้องการให้อีริคแก้แค้นนากาเซ เมื่อโอกาสเข้ามาหา เพราะนากาเซได้กลับมาอยู่ในเมืองไทย และเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่อีริคจะล้างแค้นให้กับเพื่อนๆ ที่โดนฆ่าในครั้งที่โดนจับการทำวิทยุสื่อสาร ไม้ตายที่ฟินเลย์ใช้ในการเร้าให้อีริคฆ่านากาเซ คือการที่ตัวเขาฆ่าตัวตาย โดยการแขวนคอตายตรงสะพานข้ามแม่น้ำแคว
คนดูหลายคนอาจจะคาดการณ์ได้ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้แล้วบวกกับ สิ่งที่ฝังในใจอีริคมานาน กับอาการซึมเศร้า และอดีตที่ฝังใจตัวเขา กับห้องทรมานที่ไม่มีใครรู้ว่า ตัวเขาได้เจอกับอะไรที่เลวร้ายบ้าง จะใช้โอกาสที่เหลืออยู่อย่างที่ ฟินเลย์บอกและเข้าไปฆ่านากาเซ เพราะหนังเปิดให้เราตามอีริคมาถึง การเข้ามาหานากาเซ และอยู่ด้วยกันสองต่อสอง รวมถึงการพูดถึงอดีตในช่วงสงครามครั้งนั้น โดยที่ตอนแรกนากาเซจำอีริคไม่ได้เลยด้วยซ้ำ
แต่ท้ายสุดแล้วการปลดปล่อยตัวเองของอีริค ก็คือสิ่งที่อีริคคลายปมด้วยตัวเอง โดยที่ไม่เอาสิ่งที่ฟินเลย์มาตั้งเป็นไม้ตายให้เขาต้องทำ รวมถึงการทำตามใจที่ตัวเองต้องการมานาน กับการฆ่าล้างแค้นทหารญี่ปุ่น ที่สำคัญคือนากาเซที่ทำกับเขาแบบไม่ใช่มนุษย์ แต่ในวันนี้ ใช้ตอนจบแบบที่ให้เราทุกคนจดจำ และประทับใจกับการตัดสินใจของ อีริคที่ยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งให้นากาเซได้อ่าน ข้อความเพียงไม่กี่ประโยคแต่บอกได้ว่า การแก้ปัญหาทางจิตใจแบบง่ายๆ คือการหันกลับมาแก้ที่ความคิดตัวเอง ให้ปล่อยวางทุกอย่าง และเป็นผลดีกับตัวเราเอง ที่จะไม่โดนความแค้นผูกมัดตัวเองไปถึงช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต เหมือนอย่างฟินเลย์